ประวัติศาสตร์

ปรากสปริง 1968

ในช่วงต้นของปี 1968 นายแอนโตนิน โนวอตนี่ (Antonín Novotný) นักการเมืองผู้ซึ่งขึ้นชื่อด้านความเด็ดเดี่ยว ได้ลงจากตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์โดยมีนายอเล็กซานเดอร์ ดูบเชก (Alexander Dubček) นักปฏิรูปชาวสโลวักมาดำรงตำแหน่งแทน การแต่งตั้งบุคคลที่มีทัศนคติเชิงปฏิรูปเพื่อดำรงตำแหน่งในพรรคคอมมิวนิสต์นี้ สร้างความตื่นตระหนกให้กับบรรดาผู้นำในรัสเซีย ประเทศซึ่งมีอำนาจควบคุมประเทศบริวารนี้อย่างสิ้นเชิง แนวความคิดของดูบเชกที่สร้างความประหลาดใจมากที่สุดน่าจะเป็นแนวคิดที่เขาอยากจะเปลี่ยนประเทศเชโกสโลวาเกียเป็นรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งมีความแตกต่างจากอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เป็นอย่างยิ่ง

ปรากสปริง 1968

โดยประชาชนสนับสนุนแนวความคิดนี้เป็นอย่างล้นหลามและยังมีการตั้งฉายาให้ว่าเป็น “สังคมนิยมด้วยโฉมหน้าของประชาชน” (Socialism with a public face) แต่ผู้คนที่มีความสำคัญต่อเรื่องนี้จริง ๆ นั้นคือบรรดานักการเมืองและผู้นำในกรุงมอสโก ซึ่งต่างก็ไม่พอใจกับแนวคิดดังกล่าว อย่างไรก็ตามเนื่องจากการกุมอำนาจของรัฐบาลมีความหละหลวมลง ประชาชนชาวเชโกสโลวาเกียเกิดการปะทุอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มีการตื่นตัวของสังคมศิลปิน ความรู้สึกต่อต้านกรุงมอสโกถูกถ่ายทอดออกมาสู่สาธารณชนและการแพร่กระจายของแนวความคิดทางการเมืองกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นกันได้ทั่วไป ในขณะที่ทศวรรษ 1960 กำลังดำเนินไป ประชาชนเริ่มตระหนักว่าประเทศควรเป็นอิสระจากโซ่ตรวนของลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยที่ประชาชนคิดไม่ถึงว่าการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์จะสิ้นสุดลงในวันหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม งานรื่นเริงต้องจบลงอย่างปัจจุบันทันด่วนในเดือนสิงหาคม 1968 เมื่อมหาอำนาจโซเวียตไม่ยอมอดทนอดกลั้นกับบรรยากาศที่ได้โอบล้อมประเทศเชโกสโลวาเกียได้อีกต่อไป โซเวียตไม่เพียงแค่กังวลในความจริงที่ว่าเหตุการณ์เหล่านี้กำลังเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังเกรงกลัวว่าบรรยากาศเช่นนี้อาจจะแพร่กระจายไปยังประเทศคอมมิวนิสต์อื่น ๆ ได้อีกด้วย ซึ่งอาจจะนำไปสู่การคุกคามโครงสร้างของลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรปทั้งหมดได้ เพื่อโต้ตอบสถานการณ์นี้ สหภาพโซเวียตได้ส่งกำลัง 500,000 นายไปยังประเทศเชโกสโลวาเกียเพื่อปราบปรามอิสรภาพที่เพิ่งค้นพบใหม่ของมวลชน มีขบวนรถถังจอดอยู่เต็มจัตุรัสเวนเซสลาสเพื่อแสดงถึงศักดานุภาพ ประชาชนผู้กล้าหาญที่ต่อสู้กับกองกำลังต่างชาตินั้นเป็นเพียงความพยายามที่สูญเปล่า แม้ว่าจะมีการต่อสู้โดยใช้ความรุนแรงและด้วยสันติวิธีในหลายพื้นที่ของประเทศก็ตาม

ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลยว่าการบุกรุกของโซเวียตครั้งนี้จะเป็นไปโดยปราศจากการนองเลือด ดังนั้นจึงมีเหยื่อผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ในเวลาเดียวกันนายดูบเชกและทีมผู้สนับสนุนก็ถูกเรียกตัวไปยังกรุงมอสโกที่ซึ่งพวกเขาถูกบีบบังคับให้ยุตินโยบายทั้งหมด แม้ว่าเมื่อนายดูบเชกกลับไปยังประเทศเขาจะยังคงดำรงตำแหน่งอยู่เช่นเดิม แต่อิทธิพลอำนาจในการปกครองประเทศกลับไม่ได้อยู่ที่เขาอีกต่อไป นายดูบเช็กจึงกลายเป็นเพียงผู้นำหุ่นเชิดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การต่อต้านยังคงดำเนินต่อไปในหมู่ประชาชนชาวเชโกสโลวาเกีย และมาถึงจุดเดือดในเดือนมกราคม 1969 เมื่อนักศึกษา ยัน ปาลัค (Jan Palach) ได้จุดไฟเผาตัวเองในจัตุรัสเวนเซสลาส (Wenceslas Square) ซึ่งเป็นการสละชีวิตเพื่อการประท้วงทางการเมือง

แม้ว่านายดูบเชกจะเป็นผู้นำหุ่นเชิด แต่เขาก็ดำรงตำแหน่งต่อไปได้อีกไม่นาน ในเดือนเมษายน 1969 เขาถูกแทนที่โดยนายกุสตาฟ ฮูซัค (Gustav Husák) ซึ่งเป็นตัวแทนที่ได้รับการยอมรับมากกว่าจากกรุงมอสโก การแต่งตั้งในครั้งนี้นำไปสู่การปราบปรามการแสดงออกซึ่งเสรีภาพที่มีความเบ่งบานตลอดช่วงสองสามปีที่ผ่านมา และการปราบปรามยังนำไปสู่การอพยพย้ายถิ่นของนักคิดและศิลปินชั้นเลิศของประเทศเป็นจำนวนมาก  ก่อนที่จะปิดประเทศ

หลายเดือนและหลายปีหลังจากนั้นนายฮูซัคก็ได้กวาดล้างพรรคการเมืองที่แสดงให้เห็นว่าสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวและนำอำนาจกลับมารวมศูนย์ไว้ที่รัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้เขายังได้เพิ่มอำนาจให้กับตำรวจลับที่น่าเกรงขามอีกด้วย ประเทศเชโกสโลวาเกียยังยอมรับที่จะดำรงไว้ซึ่งแนวคิดทางการเมืองแบบคอมมิวนิสต์เพื่อแลกเปลี่ยนกับการจัดหามาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดี ซึ่งเหตุการณ์ดำเนินอยู่เช่นนี้จนกระทั่งปี 1989 เมื่อเกิดการปฏิวัติกำมะหยี่ขึ้น (Velvet Revolution )

บทความที่เกี่ยวข้อง

Back to top button